ราคายางพาราตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย. 2568 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า ราคารับซื้อน้ำยางหน้าโรงงาน ณ วันที่ 1 เม.ย. 2568 ราคา 68.50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) โดยแนวโน้มราคาลดลง อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 4 เม.ย. ราคา 67.50 บาทต่อกก. วันที่ 9 เม.ย. ราคา 57.50 บาทต่อกก. และ ล่าสุด ณ วันที่ 18 เม.ย. ราคาลงไปอยู่ที่ 55.75 บาทต่อกก.
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือ เรียกร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับราคายางพารา โดยมี นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมหารือการแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้เกษตรกรชาวสวนยางจากการที่มีผู้ประกอบการบางกลุ่มจงใจใช้โอกาสจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีคู่ค้าของประธานาธิบดีสหรัฐ มากดราคาการซื้อ-ขายยางพาราจนราคาต่ำลงอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
"เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบขาดทุนจากการซื้อ-ขายที่ไม่เป็นธรรม และส่งผลต่อตลาดยางพาราในภาพรวมทั้งประเทศ สมาคมผู้ผลิตยางแผ่นรมควันภาคใต้จึงเป็นตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางยื่นหนังสือต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ช่วยเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางตามข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.กำหนดราคาซื้อ-ขายยางพาราให้มีราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม 2. กำหนดให้ผู้รับซื้อยางพาราแจ้งปริมาณกักเก็บยางพารา รวมถึงแผนการผลิต นำเข้า-ส่งออก การจำหน่ายต่อเจ้าพนักงาน เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมเสถียรภาพทางราคา 3. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อป้องกันพฤติการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความผันผวนของราคายางพารา 4. ขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่จงใจกดราคารับซื้อให้ต่ำมากกว่าปกติ ซึ่งอาจมีจำหน่ายไม่ตรงกับต้นทุน มีการจัดทำบัญชีที่ไม่ถูกต้อง อันมีเหตุให้เชื่อว่าอาจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร 5. กำหนดมาตรการควบคุมการขนย้ายยางพาราในพื้นที่ชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า หรือสวมสิทธิเป็นยางพาราในราชอาณาจักรไทย 6. ปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 7. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการสินเชื่อเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางผ่านคณะกรรมการยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อขยายเวลาชำระหนี้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อเรียกร้องไปพิจารณาดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป
ด้านนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายเป็นชุดเฉพาะกิจ ปูพรมติดตามการรับซื้อสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่แหล่งปลูกทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อค้ารายใหญ่กดราคารับซื้อของเกษตรกร
โดยปัจจุบันทั้งสินค้ายางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก และมีบทบาทสำคัญต่อรายได้ของเกษตรกรไทยจำนวนมาก การซื้อขายสินค้าเกษตรดังกล่าวเป็นการซื้อขายระหว่างเกษตรกรและพ่อค้ารายใหญ่ ซึ่งการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมจะทำให้เกษตรกรเสียเปรียบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สินค้าเกษตรมีปริมาณมากและมีพ่อค้ารับซื้อน้อยราย
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในจึงได้มีการกำกับดูแลการรับซื้อทั้งในด้านบริหารและด้านกฎหมาย โดยสินค้ายางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และมีมาตรการอย่างเข้มงวดให้ผู้ประกอบการรับซื้อ ดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ ต้องมีการแจ้งปริมาณการครอบครอง ปริมาณการรับซื้อ การจำหน่าย การใช้ ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้เกิดการลักลอบขนย้าย หรือการกักตุนสินค้า รวมถึงกฎหมายว่าด้วยชั่งตวงวัด ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลการใช้เครื่องชั่งโดยเฉพาะเครื่องชั่งสินค้าเกษตรให้มีความเที่ยงตรงและได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกษตรกรเสียเปรียบในเรื่องของน้ำหนักของสินค้าเกษตร
นายวิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมมีการติดตามสถานการณ์สินค้ายางพาราและปาล์มน้ำมันอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันราคาสินค้ายางพารามีการปรับตัวลดลง กรมฯ จึงได้เร่งติดตามและควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยกำชับให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและสำนักงานชั่งตวงวัดในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ออกไปติดตามตรวจสอบสถานการณ์การรับซื้อยางพาราและปาล์มน้ำมันในพื้นที่ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ การรับซื้อสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ต้องเป็นไปตามกฎหมายของกรมการค้าภายใน ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่ได้กำหนดให้ผู้จำหน่ายสินค้าต้องแสดงราคาจำหน่าย ณ ที่จำหน่ายอย่างชัดเจน หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท (มาตรา 28) และยังห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจจงใจทำให้ราคาต่ำเกินสมควรหรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการ (ตามมาตรา 29)
และห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนด หรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานที่เก็บตามที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่ายออกจำหน่าย หรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายหรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (ตามมาตรา 30) ซึ่งหากฝ่าฝืนมาตรา 29 และมาตรา 30 จะได้รับโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ปรับสูงสุด 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงและได้รับโทษรุนแรง
นอกจากนี้กรมฯ ได้บังคับใช้กฎหมายชั่งตวงวัดอย่างเคร่งครัดด้วย โดยมีการตรวจสอบเครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด ที่ใช้ในการซื้อขายสินค้า ให้มีความเที่ยงตรง ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยได้สั่งการให้สำนักงานชั่งตวงวัดทั่วประเทศเข้าไปดำเนินการตรวจสอบเครื่องชั่งในจุดรับซื้อทุกจุด
โดยที่ผ่านมากรมการค้าภายในเคยตรวจพบกรณีการดัดแปลงเครื่องชั่งในจุดรับซื้อหลายแห่งในภาคใต้ ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรโดยตรง โดยผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีการปรับแต่งเครื่องชั่งให้แสดงค่าน้ำหนักต่ำกว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร กรมฯ จึงได้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องชั่งที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานชั่งตวงวัด และต้องผ่านการสอบเทียบตามรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในระบบการซื้อขาย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |