สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทีมเศรษฐกิจจีนนำโดยกระทรวงพาณิชย์ และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศมาตรการต่างๆ ออกมาในวันนี้ (28 เม.ย.68) เพื่อช่วยเหลือ "บริษัทส่งออก" ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ถึงความเร่งด่วนของรัฐบาลปักกิ่งในการเข้าพยุงภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ท่ามกลางสัญญาณความเดือดร้อนที่เริ่มปรากฏขึ้น
มาตรการต่างๆ ที่ทางการจีนประกาศในวันนี้ นับเป็นความพยายามช่วยเหลือที่มีรายละเอียดมากที่สุดนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐเป็นสมัยที่สอง เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้าที่เพิ่มขึ้นในขณะที่การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐลดลง โดยมีรายละเอียดเบื้องต้น อาทิ
การออกแนวทางให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อให้บริษัทการค้าขนาดกลาง และขนาดย่อม การออกสินเชื่อพิเศษเพื่อสนับสนุนการส่งออกอุปกรณ์ขนาดใหญ่ การช่วยเหลือบริษัทในการกระจายตลาด การลดต้นทุนการค้าภายในประเทศ เช่น ค่าเช่า และค่าบริการสตรีมมิ่ง การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้บริษัทการค้า
ไม่กระตุ้นหว่านแห เน้นแก้แบบตรงจุด บลูมเบิร์ก ระบุว่า มาตรการพยุงภาคการส่งออกจีนในครั้งนี้ นับเป็น "แนวทางแก้ปัญหาแบบมุ่งเป้า" เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยปักกิ่งส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบเร่งขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุก หรือกระโจนเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐ แม้ว่าภาษีศุลกากรในระดับที่สูงเกินไปคาดว่าจะทำให้การค้าทวิภาคีหยุดชะงัก และส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของจีน ที่มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีที่แล้วก็ตาม
เรย์มอนด์ เหยิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ที่ธนาคาร ANZ กล่าวว่า ทั้งช่วงเวลา ขนาด และแนวทางของมาตรการสนับสนุนการเติบโตของจีนจะมีความยืดหยุ่น และขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของสหรัฐ และเสริมว่าปักกิ่งเคยมีประสบการณ์ในการช่วยพยุงเฉพาะผู้ส่งออกมาแล้ว ระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด และวิกฤติการเงินโลกที่ผ่านมา
จ้าว เฉินซิน รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) กล่าวว่าทางการจีน "มั่นใจเต็มที่" ในการบรรลุเป้าหมายการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ที่ประมาณ 5% และย้ำคำมั่นของที่ประชุมกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) นำโดยประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับแรงกระแทกจากภายนอก
ทั้งนี้ ปริมาณการขนส่งสินค้าจีนกำลังปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีเรือบรรทุกสินค้าประมาณ 40 ลำที่เทียบท่าเรือในจีนเมื่อไม่นานนี้ และกำลังมุ่งหน้าไปยังสหรัฐ โดยลดลงจากเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ถึงประมาณ 40% จากข้อมูลการติดตามเรือของบลูมเบิร์ก ซึ่งถือเป็นสัญญาณปัญหาเริ่มต้นของผู้ส่งออกจีน นับตั้งแต่สหรัฐ ขึ้นภาษีกับจีนเป็น 145%
การบริโภคภายในของจีนเพื่อชดเชยการส่งออกที่สูญเสียไปนั้น จะเป็นหัวใจสำคัญในความพยายามของปักกิ่งที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ แต่ปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารชั้นนำหลายแห่งแล้วที่ทยอยปรับลดคาดการณ์ GDPจีน ในปี 2568 ลง อาทิ UBS Group AG และ Goldman Sachs Group Inc. ที่ปรับลดการคาดการณ์จีดีพีจีน ลงเหลือประมาณ 4% หรือต่ำกว่านั้น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |