|
 
 
 
วันที่ / Date 27-29/04/2567
70.85 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 26/04/2567
1,477.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   กยท. เล็งแหล่งรายได้ใหม่เกษตรกร จับมือ บ.เอกชนจากญี่ปุ่น วิจัยเมล็ดยาง เพิ่มมูลค่าสู่พลังงานสีเขียว  new

กยท. เล็งแหล่งรายได้ใหม่เกษตรกร จับมือ บ.เอกชนจากญี่ปุ่น วิจัยเมล็ดยาง เพิ่มมูลค่าสู่พลังงานสีเขียว สร้างสมดุลนิเวศระยะยาว

 

(22 มี.ค. 67) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ บ. Nomura Jimusho, Inc. จากญี่ปุ่น ลงนาม MOU "โครงการศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า” โดยมีนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. และ Mr.Shoji Nomura ประธานบริษัท Nomura Jimusho, Inc. ลงนามร่วมกันในครั้งนี้ มุ่งวิจัยจัดหาเมล็ดยางพารา แปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก หวังสร้างสมดุลนิเวศระยะยาว เพิ่มมูลค่าเมล็ดยาง- แหล่งรายได้ใหม่เกษตรกร
 
         นายณกรณ์ กล่าวว่า กยท. ตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากภาคการเกษตร โดยเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะเมล็ดยางพารา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปเป็นวัตถุดิบชีวมวลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สร้างพลังงานทางเลือกและปรับความสมดุลทางระบบนิเวศในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นช่องทางสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยในอนาคต
 
          นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการร่วมมือกันในครั้งนี้ว่า ในฐานะที่ กยท. เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราในประเทศทั้งระบบ ดำเนินงานโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง โดยการยกระดับรายได้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำสวนยางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ การลงนามความเข้าใจร่วมกับ บริษัท Nomura Jimusho, Inc. ในครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อจัดหาเมล็ดยางพาราและการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการขนส่ง การจัดเก็บรวบรวม การซื้อและการชำระเงิน โดยการศึกษาปริมาณเมล็ดยางพาราต่อหน่วยพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย สำหรับเตรียมนำไปเป็นเป็นวัตถุดิบชีวมวล โดย กยท. จะรวบรวมเมล็ดพันธุ์ยางจากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยมาใช้ในการศึกษาและวิจัยในครั้งนี้
 
          "การร่วมกันศึกษาเมล็ดยางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานในครั้งนี้ จะทำให้ทราบถึงปริมาณและศักยภาพในการใช้เมล็ดยางพาราเป็นสารเติมแต่งทางชีวภาพ ซึ่งนอกจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดยางพารา และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากภาคการเกษตรแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายชีวมวล ซึ่งจะพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืน” นายณกรณ์ กล่าวย้ำ
 
          ด้าน Mr.Shoji Nomura ประธานบริษัท Nomura Jimusho, Inc. ซึ่งเชี่ยวชาญในธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงวิทยาศาสตร์ชีวภาพและผลิตภัณฑ์ด้านชีวมวล กล่าวย้ำถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันสนับสนุนให้เกิดสังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน และสนับสนุนการเติบโตของเกษตรกรชาวสวนยางผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ยางพารา เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป
 
 
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย
Update :  25 มีนาคม 2567     เวลา : 13:55:10 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com